เคลียร์จบศูนย์ขนส่งนครพนม "ถนนฉิว-รถทัวร์" สะดวก
เศรษฐกิจ
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมแจ้งว่า โครงการศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม พื้นที่ 115 ไร่ ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม ที่มีการมอบหมายกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เจ้าของโครงการ และกรมทางหลวง (ทล.) พิจารณาปรับแบบถนนด่านพรมแดนนครพนม บรรจบถนนทางเข้า-ออกหลักของศูนย์ฯ ซึ่งอยู่ด้านเหนือของศูนย์ฯ ให้เป็นสามแยก โดยติดตั้งสัญญาณไฟจราจรและร่วมกันพิจารณารายละเอียดการก่อสร้างทางยกระดับ เชื่อมจากสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาวแห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) เข้าศูนย์การขนส่ง ได้ข้อสรุปเบื้องต้นเรื่องทางเข้า-ออกหลักด้านเหนือของศูนย์การขนส่งที่ ขบ. ออกแบบใหม่เป็นทางลอด ให้รถบรรทุกจากฝั่ง สปป.ลาว ข้ามสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 มาเข้าด่านชั่งน้ำหนักของ ทล. จากนั้นรถบรรทุกจะวิ่งออกเข้าทางลอดใต้ดินก่อนขึ้นระดับดินเข้าทางเข้าหลักด้านเหนือของศูนย์การขนส่ง จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องทางยกระดับ ซึ่ง ขบ. ได้ส่งแบบทางลอดให้ ทล. พิจารณาความเหมาะสมแล้ว
นอกจากนี้ ขบ. ได้พิจารณาความเหมาะสมที่ตั้งและความจำเป็นการมีสถานีขนส่งผู้โดยสารสาธารณะซึ่งอยู่ติดกับสถานีรถไฟสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในโครงการรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม พบว่า รฟท. เตรียมพื้นที่ 6.8 ไร่ ด้านใต้ของพื้นที่ลานกองเก็บตู้สินค้า (CY) และหารือบริษัทขนส่งจำกัด (บขส.) ที่เดินรถโดยสารระหว่างประเทศในเส้นทางนครพนม -ท่าแขก หากในอนาคตมีผู้โดยสารเข้าใช้ศูนย์การขนส่งเพิ่มมากขึ้นจะนำพื้นที่มาใช้เป็นจุดเชื่อมต่อไปยังสถานีขนส่งผู้โดยสาร จ.นครพนมต่อไป รวมทั้งพิจารณาโครงข่ายถนนรองรับรถโดยสารมาใช้บริการและประสาน รฟท. เรื่องสถานะสถานะความเป็นเจ้าของที่ดินบริเวณนี้ที่รฟท.ยังไม่ได้เวนคืนหากเวนคืนแล้วจะให้ ขบ. เข้าใช้พื้นที่ด้วย
นอกจากนี้ รฟท. ยังหารือกรมธนารักษ์เกี่ยวกับแนวเส้นทางโครงการรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ช่วงอยู่ใกล้บริเวณศูนย์การขนส่งนครพนมที่กรมธนารักษ์จะประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม เพื่อนำไปประมูลให้เอกชนพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งแนวเส้นทางรถไฟสายนี้มีส่วนทับซ้อนกับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 27 ไร่ จึงกันพื้นที่ดังกล่าวออก ทำให้ไม่ต้องปรับแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ที่จะเริ่มสร้างปี 63 และเปิดใช้งานปี 67 ตามแผน
ขณะเดียวกัน จ.นครพนมจะจัดประชุมคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก จ.นครพนม (อจร.จังหวัดนครพนม) หารือดำเนินการศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวให้เกิดความเข้าใจร่วมกันในการบูรณาการและผลักดันให้เกิดพิธีการศุลกากรและการตรวจสอบ (CCA) ภายในศูนย์การขนส่งฯ ซึ่ง ทช. รายงานที่ประชุมนี้ถึงความคืบหน้าการปรับแบบก่อสร้างโครงการถนนสายเชื่อมศูนย์ซ่อมอากาศยาน (ท่าอากาศยานนครพนม) ถึงศูนย์การขนส่งและจัดตั้งพื้นที่ปฏิบัติงานร่วมกันภายในศูนย์ขนส่งชายแดนนครพนมด้วย