ข่าว ปัจจัยลบต่างประเทศฉุดตลาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้าต่อ - kachon.com

 ปัจจัยลบต่างประเทศฉุดตลาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้าต่อ
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s

รายงานข่าวจากบล.เอเชียพลัสแจ้งว่า ทิศทางตลาดการเงินในสัปดาห์นี้ยังน่าจะถูกปกคลุมด้วยประเด็นความกังวลเรื่องสงครามการค้า ซึ่งยังไม่สามารถคาดการณ์ผลสรุป  รวมถึงกรอบเวลาที่ชัดเจนได้ นอกจากนี้ยังมีประเด็นความขัดแย้งในตะวันออกกลางเข้ามาเป็นแรงกดดันเพิ่มภาวะดังกล่าวประกอบกับสัญญาณเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่กลับมาอยู่ในช่วงทรงตัว หรือปรับลดลง ทำให้การเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุนยังคงเป็นการไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยง เข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยเฉพาะพันธบัตร 

ทั้งนี้ให้น้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้รวม 35% แยกเป็น Money Market 15% และตราสารหนี้อื่นๆ 20% ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยประเด็นที่อยู่ในความสนใจอยู่ที่การจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งน่าจะเห็นความชัดเจนเรื่องนายกรัฐมนตรีในสัปดาห์นี้ ขณะที่ Valuation อยู่ในเกณฑ์ที่น่าสนใจจึงคงน้ำหนักการลงทุนในพอร์ตหุ้นไทยไว้ที่ 40% เน้นหุ้น Domestic Play ที่สามารถจ่ายเงินปันผลได้

สำหรับหุ้นต่างประเทศมีโอกาสที่จะผันผวนอยู่ได้มาก แต่น้ำหนักการลงทุนที่จัดสรรไว้ 15% ยังถือว่ามีความเหมาะสม โดยตัวเลือกที่ปลอดภัยอาจเป็นกอง REIT หรือ กองทุนรวมที่ลงทุนในทองคำ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถชนะตลาดได้ ส่วนการลงทุนในตราสารทางเลือกอื่นๆ เลือกเป็น FCN ด้วยน้ำหนัก 10% โดยการเลือกหุ้นจะเน้นหุ้นที่พื้นฐานแกร่งผันผวนไม่มากอย่างน้อย 2 บริษัท และเสริมด้วยหุ้นที่มีความผันผวนสูงแต่ราคาหุ้นได้ปรับลดลงมากแล้ว

อย่างไรก็ตาม  ผลกระทบจากสงครามการค้าปรากฎให้เห็นผ่านการประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1 ของไทยอยู่ที่  2.8%  ซึ่งน่าจะตามมาด้วยการปรับลดคาดการณ์จีดีพีลง  แต่ในอีกมุมหนึ่งก็คาดว่าจะเห็นการเร่งออก มาตรการกระตุ้นภาคเศรษฐกิจในประเทศออกมาต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อหุ้นในบางอุตสาหกรรมเช่น ค้าปลีก และ ภาคการก่อสร้าง ขณะที่ผลสืบเนื่องจากสงครามการค้าอีกประการหนึ่งคือโอกาสที่จะเห็นการย้ายฐานการผลิตจากจีน เข้าสู่ภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็น Sentiment เชิงบวกต่อหุ้นในกลุ่มนิคม อุตสาหกรรม 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในมุมของ Fund Flow สถานการณ์แวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เชื่อว่าจะขับเคลื่อนให้เม็ดเงินลงทุนไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยง เข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งจะทำให้SET Index ยังคงต้องเคลื่อนไหวอยู่ภายใต้แนวต้านบริเวณ 1,630 – 1,650 จุด แต่ก็เชื่อว่าน่าจะยืนเหนือระดับ 1,600 จุดได้ เนื่องจากที่บริเวณดังกล่าว มีค่า PER สิ้นปี 62 ต่ำเพียง 15 เท่า และให้ Dividend Yield เฉลี่ย สูงกว่า 3.5%