เทรดวอร์พ่นพิษ!ฉุดเศรษฐกิจไทยสูญแสนล้าน(คลิป)
เศรษฐกิจ
นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ปัญหาสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนมีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อและยังไม่ได้ข้อยุติจากที่ก่อนหน้านี้สหรัฐฯขึ้นภาษีกับจีนในวงเงิน 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่จีนได้ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ล่าสุดทางสหรัฐฯขู่จีนจะปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้า 25% ในวงเงิน 325,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนมิ.ย.นั้น ในเบื้องต้นประเมินว่าสงครามทางการค้าที่เกิดขึ้นทั้งหมดในช่วงระยะเวลา 1 ปีจะส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยประมาณ 3,000 กว่าล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นวงเงินประมาณ 100,000 ล้านบาท และกระทบจีดีพี0.6% ขณะที่ผลกระทบต่อคู่กรณีระหว่างสหรัฐฯและจีนไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 0.8-0.9% ต่อจีดีพี
ทั้งนี้จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยชะลอตัวลง ทำให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ปรับตัวเลขการส่งออกลดลงจาก 4.1% เหลือ 2 % และถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อส่งผลให้การส่งออกอาจโตในกรอบล่างคือ 0% หรือติดลบได้ ดังนั้นทางศูนย์วิจัยฯ เตรียมที่จะปรับลดประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจใหม่ในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ จากปกติจะมีการทบทวนเป็นรายไตรมาสอยู่แล้ว นอกจากนี้ต้องรอดูว่าหลังจากจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้วมีการประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอะไรบ้าง เพื่อปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
“ในปีหน้าสหรัฐฯจะมีการเลือกตั้ง และถ้านายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐไม่ได้ตามสิ่งที่ขอจากจีนก็จะยังเดินหน้ากดดันจีนไปเรื่อย ๆ จนถึงการเลือกตั้งทำให้สถานการณ์สงครามทางการค้าลากยาวปีหน้าส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและอาจเป็นไปได้ว่าธนาคารกลางหลักอาจปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินเป็นแบบผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ ขณะที่ความผันผวนค่าเงินจะมีเพิ่มขึ้น”
นายเชาว์ กล่าวว่า จุดที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือ ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐคงมีตัวแทนเข้าชิงชัยจากพรรคการเมืองต่างๆ และแต่ละฝ่ายเห็นนโยบายของทรัมป์ว่า มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศอย่างไรบ้าง ดังนั้นนโยบายของทรัมป์อาจทำให้ถูกหยิบยกมาโจมตีว่า ไม่ประสบความสำเร็จก็เป็นได้ ขณะเดียวกันมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯจะเป็นตัวกำหนดนโยบายสงครามทางการค้าว่าจะลากยาวแค่ไหน แต่ถ้าทรัมป์ได้รับชัยชนะรอบที่ 2 สมัยที่ 2 ก็อาจนำนโยบายดังกล่าวมาใช้ในอีกระยะหนึ่ง แต่ถ้าคะแนนตกต่ำเพลี่ยงพล้ำคิดว่าน่าจะถอยออกจากมาตรการเหล่านี้ เพราะไม่เช่นนั้นโอกาสจะได้เลือกกลับมาน้อยลง
สำหรับการเมืองในประเทศถ้ามีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ชัดเจนเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งเชื่อว่ารัฐจะมีการประกาศนโยบาย และคลอดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เพราะรู้ว่าเศรษฐกิจขณะนี้ชะลอตัวลง ดังนั้นความคาดหวังของตลาด นักลงทุน และนักวิเคราะห์รอดูว่าจะมีมาตรการใดออกมาบ้าง แต่ขนาดของมาตรการขึ้นกับนโยบายว่าจะใช้มาตรการระดับใดที่จะเพียงพอ และขึ้นกับฐานะการเงินการคลังของประเทศด้วย