ข่าวบขส.ผุดมาตรการคุมเข้มรถทัวร์หน้าฝน - kachon.com

บขส.ผุดมาตรการคุมเข้มรถทัวร์หน้าฝน
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s

นายณัฐวุฒิ อ่อนน้อม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบริหารการเดินรถ บริษัทขนส่งจำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า บขส. ผู้ให้บริการเดินรถทั้งเส้นทางภายในประเทศและระหว่างประเทศ 129 เส้นทาง มีรถให้บริการ 500 กว่าคัน และ มีรถร่วมบริการของ บขส. อีกประมาณ 3,900 กว่าคัน ซึ่งในช่วงฤดูฝนที่ถนนลื่น และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย บขส .จึงกำหนดมาตรการการเดินรถหน้าฝน โดยให้ผู้ประกอบการตรวจสภาพความมั่นคงแข็งแรงของรถ เน้นระบบเบรก ยางรถ ที่ปัดน้ำฝน ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ส่วนพนักงานขับรถต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ใช้ความเร็วทางตรงประมาณ 80-90 กม. ต่อ ชม. ตามกฎหมายกำหนด ขณะที่ทางโค้ง ทางลาดชัน ขึ้นเขา ลงเขาต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ และปฏิบัติตามตามป้ายเตือนที่ติดตั้งอย่างเคร่งครัด เช่น เขาพลึง จ.อุตรดิตถ์ ควรใช้ความเร็ว 30-40 กม. ต่อ ชม. เพื่อความปลอดภัย ขณะเดียวกัน บขส. มีโครงการพัฒนาทักษะการขับรถโดยสารสาธารณะ เพื่อสร้างนักขับรถมืออาชีพ ซึ่งต้องผ่านการอบรม การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน การแก้ปัญหาสถานการณ์เฉพาะหน้า นอกจากนี้มีการแจกข้อมูลเกี่ยวกับจุดเสี่ยงถนนของกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.)ให้พนักงานขับรถทุกคนด้วย
 นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ให้พนักงานขับรถสำรวจตรวจสอบความแข็งแรงของสถานีทำการ ที่ใกล้กับสถานีโดยสารทุกแห่ง ทั้งสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) หรือหมอชิต 2, สถานีขนส่งเอกมัย, สถานีขนส่งปิ่นเกล้าและสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ รวมสถานีขนส่งผู้โดยสารต่างจังหวัดอีก 4 แห่ง ได้แก่ บขส. สุราษฎร์ธานี, บขส. สุพรรณบุรี, บขส. ภูเขียว จ.ชัยภูมิ และ บขส.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ โดยเฉพาะ หลังคา ตัวอาคาร และป้ายต่างๆ  เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย เมื่อเกิดฝนตก พายุ ลมกระโชกแรง จนทำให้ผู้โดยสารไม่ปลอดภัย รวมทั้งจัดการตัดแต่งกิ่งไม้ ไฟส่องสว่าง และการจัดการะบบระบายน้ำให้สะดวก อาทิ การขุดลอกท่อน้ำ เพื่อระบายน้ำเวลาฝนตกไม่ให้ทวมขังบริเวณสถานีเดินรถ อย่างไรก็ตามช่วงหน้าฝน เดือนมิ.ย.-ก.ย. ของทุกปี จะเป็นช่วงเวลาที่มีนักท่องเที่ยวน้อย (โลว์ซีซั่น) ทำให้ผู้โดยสารใช้บริการรถทัวร์ในการเดินทางลดลงประมาณ 15-20% หรือประมาณกว่า 50,000 คนต่อวัน จากช่วงปกติที่มีผู้โดยสารใช้บริการประมาณกว่า60,000 คนต่อวัน ทำให้ บขส. และผู้ประกอบการต้องบริหารจัดการเดินรถให้สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสาร เพื่อลดต้นทุน แต่ทั้งนี้ต้องมีเที่ยววิ่งให้บริการตามที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กำหนด เพื่อไม่ให้ผู้โดยสารที่เดินทางประจำได้รับผลกระทบ