ข่าวทุ่ม27,000 ล้านสร้างท่าเรือบก 4 จังหวัด - kachon.com

ทุ่ม27,000 ล้านสร้างท่าเรือบก 4 จังหวัด
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s
รายงานข่าวการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) แจ้งความคืบหน้าโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคว่า ตามที่ สนข. นำเสนอผลการศึกษาสมบูรณ์ไปที่กระทรวงคมนาคมแล้ว นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม รับทราบ และมอบหมายให้ สนข. นำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) คาดจะประชุมได้ภายหลังจัดตั้งรัฐบาลใหม่ 
 โดยผลการศึกษาดังกล่าวได้คัดเลือกพื้นที่เหมาะสมพัฒนาเป็นท่าเรือบก 4 แห่ง วงเงินลงทุนรวม 27,490 ล้านบาท ดังนี้ 1.ฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่ที่ ต.ดอนทราย และ ต.หนองตีนนก อ.บ้านโพธิ์ พื้นที่ 1,800 ไร่ วงเงินลงทุน 8,920 ล้านบาท เริ่มสร้างปี 64 เปิดให้บริการปี 67 คาดมีปริมาณสินค้า 395,300 TEUs  2.นครราชสีมา ที่ตั้ง ต.กุดจิก อ.สูงเนิน พื้นที่ 1,800 ไร่ วงเงิน 7,740 ล้านบาท เริ่มสร้างปี 65 เปิดบริการปี 68 คาดมีปริมาณสินค้า 287,400 TEUs 3.ขอนแก่น ที่ตั้ง ต.ม่วงหวาน อ.น้ำพอง 1,800 ไร่ วงเงิน 7,530 ล้านบาท สร้างปี 65 เปิดบริการปี 68 คาดมีปริมาณสินค้า 226,700 TEUs  และ 4.นครสวรรค์ ต.เขาทอง อ.พยุหะคีรี 1,300 ไร่ วงเงิน 3,300 ล้านบาท เริ่มสร้างปี 67 เปิดบริการปี 70 คาดมีปริมาณสินค้า 95,800 TEUs 
 ขณะที่การลงทุนควรเป็นรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนภาครัฐ (พีพีพี) เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูงและดำเนินการเชิงธุรกิจเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนหน่วยงานที่เหมาะสมเป็นเจ้าของโครงการมากที่สุด คือการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เนื่องจากท่าเรือบกมีกลไกลและลักษณะคล้ายกับท่าเรือ อีกทั้ง กทท.ยังเป็นหน่วยงานที่มีสภาพคล่องตัวสูง มีประสบการณ์บริหารงานโดยตรงและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสายเรือ อย่างไรก็ตามเพื่อความยืดหยุ่นเรื่องบริการควรให้เอกชนเข้ามาแข่งขันบริหารจัดการพื้นฐานภายในท่าเรือบก ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะทำหน้าที่เสมือนผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางรางเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือบกกับท่าเรือแหลมฉบัง โดยเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ให้บริการ
    
ส่วนภาคเอกชนที่มาบริหารพื้นที่ท่าเรือบก อาจเป็นผู้ประกอบการโลจิสติกส์ หรือผู้ประกอบการสายเรือเป็นผู้พัฒนาและบริหารพื้นที่ รวมถึงจัดการย่านกองเก็บตู้คอนเทนเนอร์ ขนถ่ายสินค้าขึ้นลงรถไฟ และให้เช่าพื้นที่เพื่อให้บริการจัดการสินค้าภายในอาคารสถานี โดยเปิดให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์หรือผู้ประกอบการสายเรือเช่าพื้นที่อาคารสถานี เพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านการตลาดและดำเนินงานภายในท่าเรือบกแต่ละส่วน โดยหน่วยงานที่เหมาะสมบริหารจัดการท่าเรือบก ได้แก่ 1.กทท. 2.รฟท. และ 3.จังหวัด หรือการร่วมกลุ่มหน่วยงานทางเลือก 
    
นอกจากนี้ผลการศึกษายังพบว่า การพัฒนาท่าเรือบกไปสู่การปฏิบัติควรจะสร้างความร่วมมือ กำหนดเงื่อนไข และรายละเอียดข้อตกลง ระหว่างผู้บริหารพื้นที่โครงการ คือกทท. ผู้ให้บริการขนส่งทางรถไฟคือรฟท. และผู้บริหารจัดการสินค้าคือผู้ให้บริการโลจิสติกส์หรือผู้ประกอบการสายเรือ ที่จะบูรณาการสิ่งอำนวยความสะดวก ให้บริการ กำหนดตารางเวลา และอัตราค่าธรรมเนียม รวมทั้งพัฒนาความสามารถและประสิทธิภาพการขนส่งทางรถไฟ เพื่อลดภาระและเพิ่มประสิทธิภาพในการตอบสนองความต้องการลูกค้าภาคธุรกิจ รวมถึงกำหนดให้ท่าเรือบกเป็นพื้นที่ด่านศุลกากรตาม พ.ร.บ.ศุลกากร ปี 60 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติพิธีศุลกากรส่งผลให้ท่าเรือบกดึงดูดผู้ประกอบการโลจิสติกส์และผู้นำเข้า-ส่งออกมาใช้บริการได้มากยิ่งขึ้น.