รถเมล์ไฟฟ้าเมืองอุดร20 บาทตลอดสาย
เศรษฐกิจ
ทั้งนี้ระยะแรก ปี 63-69 จะนำร่อง 2 เส้นทางก่อน คือ 1.สายสีแดง ใช้รถเมล์ไฟฟ้าขนาด 12 เมตร จำนวน 35 ที่นั่ง รวมผู้โดยสารนั่งและยืน 60-80 คน ใช้รถ 9 คัน วงเงินลงทุน 494 ล้านบาท และ สายสีส้มใช้รถโดยสารขนาดเล็ก (ไมโครบัส) ยาว 7 เมตร 20 ที่นั่ง ใช้รถ 8 คัน วงเงิน 254 ล้านบาท ทั้ง 2 สาย เริ่มดำเนินการ ปี 63-65 เพื่อจัดการด้านกายภาพ ปรับปรุงแนวเส้นทาง สร้างจุดจอดรถ ศูนย์ซ่อมบำรุง และหาผู้ประกอบการเดินรถ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 66 ค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย รวมทั้งนำระบบตั๋วร่วมมาให้บริการเชื่อมต่อการเดินทางควบคู่ไปด้วย สำหรับสายสีแดงหลังเปิดให้บริการคาดการณ์ผู้โดยสารใช้บริการช่วงเร่งด่วน 1,000 คนต่อชม. ส่วนนอกเวลาเร่งด่วนมีผู้ใช้บริการ 500 คนต่อชม.ขณะที่สายสีส้มมีผู้โดยสารใช้บริการช่วงเร่งด่วน 600 คนต่อชม. และนอกเวลาเร่งด่วน 100 คนต่อชม.
ส่วนอีก 3 สาย คือ สายสีเขียวใช้รถเมล์ไฟฟ้า 8 คัน วงเงิน 410 ล้านบาท, สายสีชมพูใช้รถเมล์ไฟฟ้า 8 คัน วงเงิน 340 ล้านบาท และ สายสีน้ำเงินใช้รถเมล์ไฟฟ้า 8 คัน วงเงิน 377 ล้านบาท เริ่มดำเนินการปี 66-69 และเปิดให้บริการปี 70 ค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ส่วนระยะที่ 2 ปี 70-82 นั้น สายสีเหลืองใช้รถไมโครบัส 6 คัน วงเงิน 146 ล้านบาท เริ่มดำเนินการปี 70-75 เปิดให้บริการปี 76 ขณะเดียวกันจะพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี (TOD) และพัฒนาระบบรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) มาให้บริการ นอกจากนี้จะเสนอแผนจัดระบบการจราจร เพื่อแก้ปัญหาจราจรอย่างเป็นระบบและยั่งยืน แผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งสาธารณะหลัก รวมทั้งจุดจอดแล้วจรในเขตพื้นที่ศึกษา เพื่อวางแผนพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องต่อการพัฒนาการบูรณาการเชื่อมโยงระบบการขนส่งผู้โดยสารสาธารณะ หลังจากรับฟังความคิดเห็นแล้วจะสรุปประกอบผลการศึกษาให้สมบูรณ์ คาดแล้วเสร็จในเดือน ก.ค. 62 ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในเดือน ส.ค. 62 จากนั้นจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เห็นชอบ เพื่อมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ เช่น กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดคัดเลือกผู้ประกอบการเดินรถในแต่ละเส้นทางต่อไป