ข่าว"กรมรางฯ"จะพิจารณาค่าโดยสารรถไฟฟ้าไทยแพงจริง - kachon.com

"กรมรางฯ"จะพิจารณาค่าโดยสารรถไฟฟ้าไทยแพงจริง
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่โรงแรมพูลแมน บางกอก คิงเพาเวอร์ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดประชุมกลุ่มย่อยรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาระบบกำกับดูแลกิจการขนส่งทางรางสำหรับประเทศไทย เรื่อง “บทบาทของกรมการขนส่งทางราง” ซึ่งมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมกว่า 80 คน โดยนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า กรมการขนส่งทางรางกำลังขับเคลื่อนกฎหมายเพื่อให้มีอำนาจในการกำกับ ทั้งความปลอดภัย คุณภาพการให้บริการ และอัตราค่าโดยสารที่เป็นธรรม ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา กำลังพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กรมการขนส่งทางบก ซึ่งจะนำความคิดเห็นครั้งนี้รายงานต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย คาดว่าภายในปีนี้กฎหมายน่าจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาได้

นายสรพงศ์ กล่าวต่อว่า กรมการขนส่งทางราง พร้อมขับเคลื่อนผลักดันให้ประชาชนโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทิ้งรถส่วนตัวหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะระบบรางมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด แต่ทั้งนี้หากจะให้เห็นผลชัดเจนขึ้นคงต้องรอให้โครงข่ายรถไฟฟ้าหลากสีก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดก่อนประมาณปี 63 ซึ่งเมื่อนั้นกรมราง ก็จะออกมาตรการต่างๆ เพื่อจูงใจให้คนมาใช้บริการมากขึ้น เช่น ลดหย่อนภาษีให้กับประชาชนที่ใช้บริการรถไฟฟ้า หรือการนำภาษีที่ได้จากการต่อภาษีรถยนต์ประจำปี หรือกองทุนอื่นๆ มาอุดหนุนค่าโดยสาร เหล่านี้เป็นแนวทางที่ต้องหารือกันต่อไป
ด้านนายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ภารกิจเร่งด่วนที่กรมรางต้องดำเนินการคือ 1.มาตรฐานความปลอดภัย โดยเฉพาะปัญหาจุดตัดรถไฟในต่างจังหวัด ปัจจุบันมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยมาก และ 2.การปรับปรุงอัตราค่าโดยสาร ซึ่งเรื่องนี้คงไม่สามารถดำเนินการได้ทันที เพราะยังติดสัญญาสัมปทานต่างๆ จึงต้องใช้เวลาสักระยะ แต่ก็ต้องเริ่มเข้าไปดูและหาแนวทางในการปรับปรุงไว้ก่อน อย่างไรก็ตามจากการศึกษาวิจัยค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทย เมื่อเทียบกับประเทศสิงคโปร์ พบว่า ประเทศไทยเก็บแพงกว่าสิงคโปร์กว่า 20% โดยปัจจุบันประชาชนที่ใช้บริการรถไฟฟ้าเกือบทุกวัน จะมีค่าใช้จ่าย20 วันประมาณ 1,200-1,300 บาท หรือปีละหมื่นกว่าบาท


นายสุเมธ กล่าวต่อว่า ทีดีอาร์ไอมีแนวคิดว่าควรให้ประชาชนสามารถนำค่าใช้จ่ายในการโดยสารรถไฟฟ้ามาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลประจำปีได้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวประเทศญี่ปุ่นได้ใช้ดำเนินการแล้ว และประสบผลสำเร็จอย่างมาก นอกจากนี้รัฐบาลควรเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจาก 500 บาท เป็น 700-800 บาท เพื่ออุดหนุนการเดินทางให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มได้ใช้บริการ เพราะทุกวันนี้ประชาชนที่ใช้บริการส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนรายได้ปานกลาง ถึงค่อนข้างสูง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่อยากเห็นกรมรางเป็นหน่วยงานเดียวที่กำหนดค่าโดยสาร ไม่ใช่เหมือนในปัจจุบันที่ขึ้นอยู่กับแต่ละหน่วยงาน ส่งผลให้ค่าโดยสารปรับเพิ่มไม่พร้อมกัน และสูงมากยิ่งขึ้นในอนาคต โดยอยากให้ยึดโมเดลของประเทศสิงคโปร์ที่มีหน่วยงาน PUBLIC TRANSPORT COUNCIL เป็นผู้กำหนดอัตราค่าโดยสาร ซึ่งในหน่วยงานนี้จะมีตัวแทนของเอ็นจีโอ สื่อมวลชน และนักวิชาการร่วมอยู่ด้วย เพื่อให้การพิจารณาค่าโดยสารเป็นธรรม และเป็นที่ยอมรับ ไม่ต้องเกิดการฟ้องร้องต่อศาลกันเมื่อมีการขึ้นค่าโดยสาร.


...