รฟม.ผุด5มาตรการป้องกันน้ำท่วม"แนวรถไฟฟ้า"
เศรษฐกิจ
นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่ก่อสร้างในช่วงฤดูฝน มีดังนี้ 1. เตรียมเครื่องสูบน้ำ เพื่อสนับสนุนสำนักงานเขต และสถานีตำรวจในพื้นที่ในการระบายน้ำที่ท่วมขัง 2. ตรวจสอบสภาพท่อ/ทางระบายน้ำ ลำราง และคูคลองต่างๆ ตลอดแนวก่อสร้างโครงการฯ หากพบว่าอุดตัน มีดินทรายทับถม หรือมีวัสดุกีดขวาง ต้องขุดลอกทันที 3. จัดเก็บวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักร พร้อมจัดหาผ้าใบปกคลุม ป้องกันเศษดินทรายตกหล่นและไหลลงสู่ทางระบายน้ำ 4. นำรถดูดฝุ่นปฏิบัติงานสม่ำเสมอ ไม่ให้เศษดินหรือฝุ่นละอองตกหล่นไหลลงท่อกีดขวางการระบายน้ำ และ 5.จัดหน่วยช่วยเหลือฉุกเฉินและบรรเทาทุกข์ เพื่อช่วยเหลือเร่งด่วน เมื่อเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าและช่วยเหลือรถยนต์ที่จอดเสีย
นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวฯ ได้ให้ผู้รับจ้างก่อสร้างบ่อพักเสริมและเพิ่มขนาดท่อระบายน้ำทดแทนท่อระบายน้ำเดิม และเชื่อมท่อระบายน้ำใหม่เพิ่มเติม รวมถึง จัดพนักงานเก็บกวาดพื้นที่ก่อสร้าง และจัดเก็บอุปกรณ์ต่างๆป้องกันเศษวัสดุกีดขวางทางระบายน้ำ นอกจากนี้ได้ลอกท่อระบายน้ำตลอดแนวถนนพหลโยธิน ปีนี้จะลอกท่อระบายน้ำเพิ่ม 22,780 เมตร 1,520 บ่อพัก เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำได้ ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ได้ขุดลอกท่อระบายน้ำ บริเวณพื้นที่ก่อสร้างสถานีรามคำแหง ป้องกันเศษวัสดุอุดตัน เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เฝ้าระวังจุดเสี่ยงตลอดแนวถนนรามคำแหง โดยจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำและเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยฉุกเฉินกรณีน้ำท่วมขัง เพื่อระบายน้ำฝนสู่คลองแสนแสบ
นายสุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ จัดเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดบริเวณพื้นที่ก่อสร้างและปากท่อระบายน้ำ ไม่ให้เศษดินหรือขยะเข้าไปอุดตันทางระบายน้ำ และเฝ้าระวังเป็นพิเศษในจุดวิกฤตบนถนนลาดพร้าว และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ ระบายน้ำที่ท่วมขัง และตรวจสอบสภาพท่อ/ทางระบายน้ำต่อเนื่อง ทั้งนี้ รฟม. ได้เน้นย้ำให้ที่ปรึกษาโครงการดูแลให้ผู้รับจ้างงานโยธาทุกโครงการ ลอกท่อระบายน้ำตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้า อย่างต่อเนื่องทุกๆ 3 เดือน และเฝ้าระวังสถานการณ์และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน โดยคำนึงถึงความปลอดภัย และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชมและสังคมเป็นสำคัญ.