ข่าวไอเอ็มดีเปิดอันดับขีดสามารถแข่งขันไทยปี 62 สูงสุดรอบ 15 ปี - kachon.com

ไอเอ็มดีเปิดอันดับขีดสามารถแข่งขันไทยปี 62 สูงสุดรอบ 15 ปี
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศจาก World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2562 ร่วมกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทีเอ็มเอ ว่า อันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน โดยสูงขึ้น 5 อันดับ จากอันดับที่ 30 เป็นอันดับที่ 25 จากทั้งหมด 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก เป็นอันดับสูงสุดในรอบ 15 ปี 

สำหรับเขตเศรษฐกิจที่มีอันดับสูงสุด 5 อันดับแรกคือ สิงคโปร์เลื่อนขึ้นมาอยู่อันดับที่ 1 แทนที่สหรัฐอเมริกาซึ่งลดอันดับลงไปเป็นที่ 3 รองลงมาคือ ฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตามลำดับ สำหรับเขตเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียนที่ได้รับการจัดอันดับ 5 เขตเศรษฐกิจ มีอันดับดีขึ้นเกือบทั้งหมด ประกอบด้วยสิงคโปร์ซึ่งขึ้นมาอยู่อันดับที่ 1 มาเลเซียมีอันดับคงที่ที่ 22 เช่นเดียวกับปีที่แล้วส่วนประเทศไทยสูงขึ้น 5 อันดับ จากอันดับที่ 30 เป็น 25  อินโดนีเซียมีอันดับดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากอันดับที่ 43 เป็น 32และฟิลิปปินส์จากอันดับที่ 50 เป็น 46 

เมื่อพิจารณาผลการจัดอันดับของไทย จากผลการจัดอันดับที่แบ่งเป็น 4 ด้านได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจ (Economic Performance) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) มีผลการจัดอันดับดีขึ้น 3 ด้าน ประกอบด้วยด้านสภาวะเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ และโครงสร้างพื้นฐาน ในขณะที่ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจลดลง 2 อันดับ 


นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่ในปีนี้ผลการจัดอันดับของประเทศไทยดีขึ้นถึง 5 อันดับ โดยที่ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจและประสิทธิภาพของภาครัฐดีขึ้นถึง 2 อันดับ ในด้านเศรษฐกิจนั้น ปรากฏว่าด้านการลงทุนต่างประเทศ มีอันดับที่ดีขึ้นมากเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการลงทุนจากต่างประเทศ ในขณะที่การปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานเพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจก็ส่งผลให้อันดับด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของประสิทธิภาพของภาครัฐดีขึ้นถึง 4 อันดับ ซึ่งก็นับว่าเป็นผลจากการที่รัฐบาลได้มีแนวทางที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในการปรับกฎระเบียบให้ทันสมัย คล่องตัว และส่งเสริมการใช้ดิจิทัลในการให้บริการให้รวดเร็วมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการแก้ปัญหาปัจจัยพื้นฐานเชิงโครงสร้างในทุกด้าน และกำลังผลักดันต่อไปให้เกิดผลอย่างต่อเนื่องและในวงที่กว้างขวางมากขึ้น