ข่าวก.ย. นี้ ขนส่งไทย-เมียนมาฉลุย หนุนเศรษฐกิจพุ่ง - kachon.com

ก.ย. นี้ ขนส่งไทย-เมียนมาฉลุย หนุนเศรษฐกิจพุ่ง
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 30 พ.ค. ที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดี ขบ. เปิดเผยภายหลังเป็นประธานแถลงข่าวความคืบหน้าการประกอบการขนส่งทางถนนระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงว่า หลังจากที่เริ่มใช้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ระหว่างไทย-เมียนมา ซึ่งให้สิทธิแต่ละฝ่ายในการออกใบอนุญาตขนส่งทางถนน (Permit) ไทย-เมียนมา จำนวนฝ่ายละ 100 ฉบับนั้น ขบ. ได้ออกประกาศเชิญชวนผู้สนใจเป็นผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยสารและหรือสินค้าระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 25 เม.ย.-24 พ.ค.ที่ผ่านมา

นายพีระพล กล่าวต่อว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างรวบรวมคำขอรับการคัดเลือกเพื่อเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาคัดเลือกและกลั่นกรองผู้ประกอบการขนส่งระหว่างประเทศตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งต่อไป คาดว่าแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.62 ขณะเดียวกัน ขบ. ร่วมกับกรมศุลกากรได้จัดอบรมเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตขนส่งทางถนน และออกเอกสารนำเข้าชั่วคราว (Temporary Admission Document: TAD) ให้แก่ผู้แทนจากกระทรวงคมนาคมและการสื่อสารและกรมศุลกากรของเมียนมา เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการเดินรถดังกล่าว คาดว่า ต้นเดือน ก.ย. 62 ทั้งสองฝ่ายจะเดินรถได้ ตามเส้นทางเริ่มต้นที่ ณ ด่านพรมแดนแม่สอด-เมียวดี ไทยจะวิ่งข้ามสะพานมิตรภาพไทย–เมียนมา แห่งที่ 1 แม่สอด-เมียวดี-ย่างกุ้ง-ท่าเรือติละวา ขณะที่ฝั่งเมียนมาขอวิ่ง 2 เส้นทาง คือ ตลอดแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) ข้ามสะพานมิตรภาพไทย–เมียนมา แห่งที่ 1  ด่านพรมแดนแม่สอด-เมียวดี-พิษณุโลก-ขอนแก่น-กาฬสินธุ์-มุกดาหาร และ เส้นทางจากแม่สอด-กรุงเทพฯ-ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งสองประเทศ


นายพีระพล กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-ลาว-เวียดนาม เริ่มใช้ความตกลงในการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่จุดผ่านแดนมุกดาหาร-สะหวันนะเขต และจุดผ่านแดนแดนสะหวัน-ลาวบาว และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนสิทธิจราจรระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา ณ จุดผ่านแดนอรัญประเทศ-ปอยเปต ขบ. ได้คัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ ทั้งสองฉบับอย่างครบถ้วน โดยภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-ลาว-เวียดนาม เริ่มเดินรถเมื่อปี 2552 มีโควตาจำนวนใบอนุญาตขนส่งทางถนน ประเทศละ 400 ฉบับ ในเส้นทางแม่สอด-พิษณุโลก-ขอนแก่น-กาฬสินธุ์-มุกดาหาร (ไทย)-สะหวันนะเขต-แดนสะหวัน (สปป.ลาว)-ลาวบาว-ดองฮา-เว้-ดานัง (เวียดนาม) และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนสิทธิจราจรระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา เริ่มเดินรถเมื่อปี 2555 มีโควตาจำนวนใบอนุญาตขนส่งทางถนน ประเทศละ 150 ฉบับ ในเส้นทาง กรุงเทพฯ-กบินทร์บุรี-สระแก้ว-อรัญประเทศ หรือ กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง-พนมสารคาม-กบินทร์บุรี-สระแก้ว-อรัญประเทศ (ไทย)-ปอยเปต-ศรีโสภณ-เปอสาต-พนมเปญ-นากหลวง-บาเวต (กัมพูชา)

นายพีระพล กล่าวด้วยว่า แต่เนื่องจากใบอนุญาตขนส่งทางถนน (Permit) มีอายุ 1 ปี และมีผู้ประกอบการบางส่วนไม่มาดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด จึงมีโควตาเหลือในแต่ละปี ทั้งนี้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาคัดเลือกและกลั่นกรองผู้ประกอบการขนส่งระหว่างประเทศตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เมื่อวันที่ 30 พ.ค.62 มีมติเห็นชอบให้จัดสรรใบอนุญาตขนส่งทางถนนแก่ผู้ประกอบการขนส่งตามโควตาที่เหลือ 279 ฉบับ แบ่งเป็นขนส่งสินค้าภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-ลาว-เวียดนาม มีโควตาเหลือ 218 ฉบับ และจำนวนใบอนุญาตขนส่งทางถนน การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา มีโควตาเหลือ 61 ฉบับ ขบ.จะแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ประกอบการขนส่งที่ได้รับจัดสรรใบอนุญาตขนส่งทางถนน เพื่อให้ทำการประกอบการขนส่งได้ทันที