ข่าวก.ย. นี้ คลอดเครื่องหมายคุมรถข้ามแดน - kachon.com

ก.ย. นี้ คลอดเครื่องหมายคุมรถข้ามแดน
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานแถลงข่าวโครงการศึกษาและจัดทำระบบการกำกับดูแลยานพาหนะข้ามพรมแดนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษว่า ขบ. ได้จ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ศึกษาโครงการดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐบาลที่มีนโยบายพัฒนาส่งเสริมพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณจังหวัดชายแดน ความก้าวหน้าของการขนส่งทางถนนระหว่างประเทศ และเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวที่นำรถส่วนบุคคลจากต่างประเทศเข้ามาใช้เพื่อการท่องเที่ยวในไทย ส่งผลให้สถิติการนำยานพาหนะต่างประเทศเข้ามาใช้ในไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี รวมทั้งหาแนวทางป้องกันปัญหาและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการใช้รถใช้ถนน

นายพีระพล กล่าวต่อว่า โครงการนี้ได้ศึกษาสภาพการณ์ ข้อเท็จจริง จัดทำมาตรการควบคุมกำกับดูแลยานพาหนะต่างประเทศในไทย พร้อมทั้งจัดทำระบบสารสนเทศเพื่อรองรับการบังคับใช้มาตรการดังกล่าว โดยจำแนกกลุ่มยานพาหนะจากต่างประเทศออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.รถประจำถิ่น เป็นรถส่วนบุคคลจากประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศไทยแต่ไม่มีความตกลงด้านการขนส่งทางถนนร่วมกัน ได้แก่ เมียนมาและกัมพูชา โดยนำรถเข้าออกทางด่านศุลกากรเพื่อกิจธุระเป็นประจำ เช่น การซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค การรักษาพยาบาล และการศึกษา โดยที่ปรึกษา ได้เสนอให้ยื่นคำขออนุญาตใช้รถต่อ ขบ. เพื่อออกเครื่องหมายแสดงการใช้รถ ซึ่งมี QR Code เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบข้อมูลรถและเจ้าของรถ ข้อมูลผู้ขับรถ พื้นที่ที่ได้รับอนุญาต รวมถึงข้อมูลประกันภัยรถภาคบังคับตามกฎหมายของไทย รวมทั้งพัฒนาระบบสารสนเทศรองรับการยื่นคำขอฯ แบบออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ยื่นคำขอฯ คาดว่ามีผลบังคับใช้ต้นปี 63


นายพีระพล กล่าวอีกว่า 2.รถเพื่อการท่องเที่ยว ขบ. ได้มีประกาศกรมฯ เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขออนุญาต การอนุญาต ระยะเวลาในการใช้รถ และเครื่องหมายแสดงการใช้รถที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อใช้ท่องเที่ยวหรือที่มีความจำเป็นเฉพาะกรณี ปี 59 กำหนดให้ผู้นำรถจากประเทศที่ไม่มีความตกลงด้านขนส่งทางถนนกับไทยต้องยื่นขออนุญาตใช้รถต่อ ขบ. ผ่านผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวก่อนการนำรถเข้ามาใช้ในไทย ดังนั้นได้ต่อยอดการกำกับดูแลพัฒนาระบบสารสนเทศรองรับการยื่นคำขออนุญาตใช้รถแบบออนไลน์ เพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วพิจารณาคำขอฯ และออกเครื่องหมายแสดงการใช้รถ ซึ่งมี QR Code ขณะเดียวกัน ขบ. อยู่ในระหว่างการแก้ไขประกาศฯ เพื่อมอบอำนาจให้สำนักงานขนส่งจังหวัดสามารถพิจารณาคำขอฯ และออกเครื่องหมายแสดงการใช้รถได้ รวมถึงลดระยะเวลาการยื่นคำขอฯ ล่วงหน้าด้วย คาดว่าเดือน ก.ย. 62 จะมีผลบังคับใช้

นายพีระพล กล่าวด้วยว่า และ 3.รถตามความตกลงระหว่างประเทศ ได้แก่ รถจากประเทศลาว มาเลเซีย และสิงคโปร์ อยู่ในระหว่างดำเนินการเพื่อกำหนดแนวทางที่เห็นชอบร่วมกันระหว่างประเทศภาคีต่อไป นอกจากนี้ได้พัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่นที่ชื่อ “DLT FVP” บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และไอโอเอส สำหรับอำนวยความสะดวกเข้าถึงข้อมูลและเพิ่มความปลอดภัยใช้รถใช้ถนนของผู้ใช้ยานพาหนะต่างประเทศในไทย โดยแอพฯ จะมีแผนที่สารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) แสดงสถานที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาล สถานีตำรวจ แหล่งท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า ปั๊มน้ำมัน ร้านอาหาร และสถานที่ราชการ แผนที่ขอบเขตพื้นที่ที่อนุญาตให้ใช้รถ และหมายเลขโทรศัพท์ที่จำเป็นสำหรับการแจ้งเหตุฉุกเฉินต่างๆ รวมทั้งเผยแพร่ข่าวสารจาก ขบ. ไปยังผู้ใช้รถ เช่น กรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน ภัยพิบัติ หรือกรณีที่ ขบ. ต้องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารหรือกฎระเบียบต่างๆ ให้ผู้ใช้ยานพาหนะได้ทราบ


ด้าน ผศ.ดร.ศุภวุฒิ มาลัยกฤษณะชลี รักษาการแทนหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มก.กล่าวว่า สำหรับรถประจำถิ่น อาทิ รถยนต์ส่วนบุคคล รถกระบะ รถตู้ รถขนส่งเชิงพาณิชย์ รถโดยสาร และ รถจักรยานยนต์ (จยย.) ที่เข้าออกระหว่างด่านพรมแดนไทย-เมียนมา อาทิ ด่านพรมแดนแม่สอด จำนวนมาก ประมาณ 7 แสนคันต่อปี และ ด่านพรมแดนไทย-กัมพูชา อาทิ ด่านพรมแดนอรัญประเทศ ประมาณ 2.3 แสนคันต่อปี ซึ่งเข้าออกจำนวนมาก ไม่สามารถตรวจสอบรถ พนักงานขับรถ บริษัทประกันภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุและควบคุมไม่ได้ เพราะเดิมทีเป็นความตกลงระหว่างผู้ราชการจังหวัดของไทยและเจ้าเมืองของเมียนมา หรือกัมพูชา ตกลงรถที่เข้าออกด่านพรมแดนเอง หากดำเนินการดังกล่าวจะช่วยลดปัญหารถข้ามพรมแดนได้