กรมโยธาฯเตรียมจัดงาน ก่อสร้างไร้ฝุ่นPM2.5เริ่ม5-7ก.ย.
เศรษฐกิจ
การคาดการณ์ทิศทางธุรกิจวัสดุก่อสร้างในปี 2563 มีแนวโน้มเติบโตดี โดยมีปัจจัยหนุนจากความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างในประเทศ ที่คาดว่าจะขยายตัวดี โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ประกอบกับความต้องการลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น สำหรับตลาดต่างประเทศมีโอกาสเติบโตได้ โดยเฉพาะประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ สะท้อนความต้องการวัสดุก่อสร้างที่จะเพิ่มขึ้น โดยผลิตภัณฑ์คอนกรีตคาดว่าความต้องการใช้เสาเข็มคอนกรีตจะอยู่ที่ 532.3-547.9 พันลบ.ม. ในปี 2561 ในปี 2562-2563 มีแนวโน้มเติบโต 4-6% และ 5-6% YoY ตามลำดับ ขณะที่พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปจะมีความต้องการใช้ในประเทศ 429.9-438.5 พันตร.ม. ในปี 2561 และในปี 2562-2563 คาดว่าจะขยายตัว 1-3% และ 2-5% YoY ตามลำดับ
นายทวีเกียรติ ศรีสกุลเมฆี รักษาการสถาปนิกใหญ่กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาไหม้ และการก่อสร้าง อาทิ พื้นที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ ที่ต้องกำชับดูแลเป็นพิเศษ รัฐบาลจึงมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองวางมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันฝุ่นละออกจากงานก่อสร้าง โดยศึกษาและอ้างอิงมาตรการจากต่างประเทศ ได้แก่ การกั้นล้อมอาคารด้วยวัสดุหรืออุปกรณ์เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง การเก็บวัสดุก่อสร้างไว้ในที่มิดชิด การทำความสะอาดล้อรถทุกชนิดก่อนนำออกนอกบริเวณสถานที่ก่อสร้าง การฉีดพรมน้ำเพื่อลดปริมาณฝุ่น และการรักษาความสะอาดบริเวณสถานที่ก่อสร้าง เมื่อปฏิบัติตามระเบียบมาตรฐานงานก่อสร้างในระดับสากล จะช่วยลดมลพิษทางอากาศได้ ซึ่งผลกระทบจากมาตรการทางกฎหมายนี้ส่งผลให้ต้นทุนในงานก่อสร้างเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.20 - 0.70 โดยเป็นค่าวัสดุ อุปกรณ์ และค่าติดตั้งในการป้องกันฝุ่นละออง
ข้อมูลมาตรการทางกฎหมายต่างๆ ของหน่วยงานที่จัดทำขึ้น มุ่งหวังเพียงจะสามารถแก้ไข ช่วยเหลือ ส่งเสริมและผลักดันให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ ทั้งนี้เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์มาตรการต่างๆของกรมกรมโยธาธิการและผังเมือง ยังมอบหมายให้กองวิเคราะห์วิจัยและทดลองวัสดุ จัดแสดงขีดความสามารถและอุปกรณ์ด้านการทดสอบวัสดุ และมีข้อมูล Building Code โดยสำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร พ่วงด้วยผลงานการออกแบบบ้านสำเร็จรูปเพื่อผู้ประสบภัย โดยสำนักสถาปัตยกรรมสุดท้ายคือจัดแสดงมาตราฐานทางด้านกฏหมายเพื่อป้องกันฝุ่น PM 2.5 โดยสำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร มาร่วมแสดงภายในงาน CONCRETE ASIA ที่จะเกิดขึ้นในเดือนกันยายนนี้
มิสเตอร์ลอย จุน ฮาว ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซ์ซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด เปิดเผยว่า “การพัฒนาการก่อสร้างอย่างยั่งยืนต้องเริ่มตั้งแต่การออกแบบ การเลือกใช้วัสดุ การเลือกทำเลที่ตั้ง และประโยชน์ใช้สอยของอาคาร ซึ่งคอนกรีตเป็นวัสดุหลักสําหรับงานก่อสร้างที่มีปริมาณการใช้งานเพิ่มขึ้นจากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปลดปล่อยมาจากการผลิต รวมไปถึงมลพิษจากการกําจัดเศษคอนกรีตที่เหลือทิ้ง อิมแพ็คในฐานะผู้จัดงาน CONCRETE ASIA จึงได้เชิญผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมคอนกรีตกว่า 300 แบรนด์ร่วมจัดแสดงทั้งผลิตภัณฑ์คอนกรีต เทคโนโลยีคอนกรีต แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป เคมีสำหรับงานคอนกรีต การตกแต่งคอนกรีต อุปกรณ์ เครื่องจักร นั่งร้าน และแบบหล่อคอนกรีต เป็นต้น โดยมุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์คอนกรีตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ กรีนคอนกรีต บนพื้นที่กว่า 5,000 ตารางเมตร และการจัดงาน CONCRETE ASIA ในปีนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากกรมโยธาธิการและผังเมืองในการจัดแสดงนิทรรศการที่มุ่งเน้นการแสดงมาตราฐานในการก่อสร้างอาคารเพิ่มป้องกันฝุ่นละอองระดับ PM2.5 พร้อมกันนี้ยังมีการสาธิตการย้อมสีคอนกรีต (Concrete Dye) โดยคุณราเชล นิก บรูซ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างลวดลายบนคอนกรีตกว่า 15 ปีจาก FLOORmaps INC. สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยโปรแกรมจับคู่เจรจาธุรกิจกับผู้มีอำนาจตัดสินใจซื้อที่ลงทะเบียนล่วงหน้ากว่า 450 นัดหมาย คาดว่าตลอดทั้ง 3 วันการจัดงานจะมีผู้สนใจเข้าร่วมชมงานกว่า 5,000 ราย”.