เริ่มแล้วขนส่งลุ่มน้ำโขงบูมเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจ
น.ส.นงลักษณ์ วงศ์สุขสิริเดชา ผู้อำนวยการกองแผนงาน กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ที่มีประเทศสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ จีนตอนใต้ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย ขณะนี้ทั้ง 5 ประเทศสมาชิกยกเว้น เมียนมา สามารถให้ผู้ประกอบการรถบรรทุกและผู้ประกอบการรถโดยสารไม่ประจำทาง (รถ 30) หรือรถเช่าเหมา ที่ได้รับใบอนุญาตเดินรถโควตาประเทศละ 500 ฉบับ ขนส่งสินค้าและผู้โดยสารได้แล้ว ตั้งแต่เดือน พ.ค. 62 ที่ผ่านมา สำหรับไทยได้ออกใบอนุญาตประกอบการเดินรถให้ผู้ประกอบแล้ว 491 ฉบับ จากโควตาทั้งหมด 500 ฉบับ ส่วนอีก 9 ฉบับที่เหลือผู้ประกอบการไม่มาออกใบประกอบการ เนื่องจากไม่มีความพร้อม ทำให้ใบประกอบการที่เหลืออาจต้องไปออกประกาศหาผู้ประกอบการใหม่ในปี 63 ต่อไป
น.ส.นงลักษณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีเมียนมาที่ยังไม่ขอร่วมเดินรถในครั้งนี้ เนื่องจากอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมและต้องการนำร่องใช้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ระหว่างไทย-เมียนมาก่อน ซึ่งให้สิทธิแต่ละฝ่ายในการออกใบอนุญาตขนส่งทางถนน (Permit) ไทย-เมียนมา จำนวนฝ่ายละ 100 ฉบับ หลังจากที่ ขบ. ได้ออกประกาศเชิญชวนผู้สนใจเป็นผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยสารและหรือสินค้าระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 25 เม.ย.-24 พ.ค.62
น.ส.นงลักษณ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันอยู่ในระหว่างรวบรวมคำขอรับการคัดเลือกเพื่อเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาคัดเลือกและกลั่นกรองผู้ประกอบการขนส่งระหว่างประเทศตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งต่อไป คาดว่าแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.62 ขณะเดียวกัน ขบ. ร่วมกับกรมศุลกากรได้จัดอบรมเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตขนส่งทางถนน และออกเอกสารนำเข้าชั่วคราว (Temporary Admission Document: TAD) ให้แก่ผู้แทนจากกระทรวงคมนาคมและการสื่อสารและกรมศุลกากรของเมียนมา เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการเดินรถดังกล่าว คาดว่า ต้นเดือน ก.ย. 62 ทั้งสองฝ่ายจะเดินรถได้
น.ส.นงลักษณ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับแนวเส้นทางเริ่มต้นที่ ณ ด่านพรมแดนแม่สอด-เมียวดี ไทยจะวิ่งข้ามสะพานมิตรภาพไทย–เมียนมา แห่งที่ 1 แม่สอด-เมียวดี-ย่างกุ้ง-ท่าเรือติละวา ขณะที่ฝั่งเมียนมาขอวิ่ง 2 เส้นทาง คือ ตลอดแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) ข้ามสะพานมิตรภาพไทย–เมียนมา แห่งที่ 1 ด่านพรมแดนแม่สอด-เมียวดี-พิษณุโลก-ขอนแก่น-กาฬสินธุ์-มุกดาหาร และเส้นทางจากแม่สอด-กรุงเทพฯ-ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งสองประเทศ ที่มีการขนส่งสินค้า จำพวกอุปโภคบริโภค เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง ผงชูรส รวมทั้งอุปกรณ์ก่อสร้าง อย่างไรก็ตามหากได้รับความนิยมในการขนส่งระหว่างไทย-เมียนมา อาจมีเพิ่มจำนวนโควตา จาก 100 ฉบับ เป็น 500 ฉบับตามที่กรอบลุ่มน้ำโขงกำหนดด้วย หรืออาจจะมากกว่าที่กำหนด โดยต้องหารือกันเพิ่มเติมอีกครั้ง