เล็งเปิดรถเมล์ไฟฟ้าอุดรธานีเชื่อมทุกระบบขนส่ง
เศรษฐกิจ
รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) แจ้งว่า ผลการประชุมสัมมนาครั้งที่ 3 โครงการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนสางสาธารณะในเขตเมืองอุดรธานี เมื่อวันที่ 28 พ.ค.62 พบว่า ผู้เข้าร่วมสัมมนาเห็นด้วยกับผลการศึกษาดังกล่าว แผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ระยะเวลา 20 ปี (63-82) จำนวน 6 เส้นทางและใช้ระบบรถเมล์ไฟฟ้า ระยะทางรวม 100.5 กม. วงเงินรวมประมาณ 2,021 ล้านบาท ได้แก่ 1.สายสีแดง สถานีรถไฟอุดรธานี-สนามบินนานาชาติอุดรธานี 2.สายสีส้ม รอบเมืองอุดรธานี 3.สายสีเขียว ศาลแรงงาน ภาค 4-ถนนโพศรี-ถนนศรีสุข 4.สายสีน้ำเงิน ค่ายยุทธศิลป์ประสิทธิ์-ตลาดผ้านาข่า 5.สายสีชมพู ม.ราชภัฎอุดรธานี วิทยาเขตสามพร้าว-ทุ่งศรีเมือง-ถนนอดุลยเดช และ 6.สายสีเหลือง แยกบ้านเลื่อม-แยกบ้านจั่น โดยจะนำร่อง 2 สายก่อน คือ 1.สายสีแดง และ สายสีส้ม ค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย
ส่วนกรณีเส้นทางนำร่อง 2 เส้นทางก่อน คือ 1.สายสีแดง ใช้รถเมล์ไฟฟ้า 9 คัน วงเงิน 494 ล้านบาท และ 2.สายสีส้ม ใช้รถโดยสารขนาดเล็ก (ไมโครบัส) ใช้รถ 8 คัน วงเงิน 254 ล้านบาท ทั้ง 2 สายคาดว่าจะเปิดให้บริการปี 66 ผู้เข้าร่วมสัมมนามองว่า ถ้าเป็นนักเรียนและนักศึกษา ควรจะมีส่วนลดค่าโดยสารให้ ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบจำหน่ายบัตรรายสัปดาห์หรือบัตรรายเดือน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมทั้งกรณีที่ใช้รถเมล์ไฟฟ้าในการเดินทางหลายต่อ เพื่อไปยังจุดหมายปลายทาง บางครั้งผู้โดยสารต้องจ่าย 20 บาทตลอดสายทุกครั้งที่ใช้บริการ และต้องรอรถเมล์ไฟฟ้านาน ทำให้เสียเวลาในการเดินทาง และเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางเชื่อมต่อรถเมล์จำนวนมาก อาจเปลี่ยนไปใช้รถรับจ้าง รถรับจ้าง หรือแท็กซี่ ที่ยอมจ่ายค่าโดยสารครั้งเดียวประมาณ 100-200 บาท ทั้งนี้เมื่อมีรถเมล์ไฟฟ้าใช้ทางผู้ประกอบการเดินรถต้องพัฒนาแอพพลิเคชั่นขึ้นมารองรับการเดินทางของผู้โดยสาร อาทิ การตรวจสอบตำแหน่งรถ
ด้านกรณีเดินทางด้วยรถเมล์หลายต่อนั้น หากอนาคตผู้ประกอบการเป็นรายเดียวกัน เช่น สายสีแดง และสายสีส้ม ต้องนำระบบตั๋วร่วมมาใช้ ทำให้ง่ายต่อการบริการจัดการและทำให้ค่าโดยสารถูกลงได้ เช่น ขึ้นสายสีแดงจ่าย 20 บาทตลอดสาย จากนั้นมาขึ้นสายสีส้มต่ออาจจะจ่ายเพิ่มอีก 10 บาท หรือไม่ต้องจ่ายเลยก็ได้ ซึ่งต้องไปพิจารณาอีกต่อไป เพื่อให้สอดคล้องต่อความต้องหารเดินทางมากที่สุด นอกจากนี้ผู้ร่วมสัมมนากังวลว่า รถเมล์ไฟฟ้าทั้ง 6 สาย จะทับซ้อนบางแนวเส้นทางการเดินรถของอุดรซิตี้บัสที่ให้บริการปัจจุบัน 2 สาย คือ สายที่ 20 สายสีแดง เส้นทางบิ๊กซีอุดรฯ-สนามบินอุดรธานี และ 2.สายที่ 21 สายน้ำเงิน เส้นทางสี่แยกตลาดรังษิณา-สี่แยกบ้านจั่น โดยเฉพาะจุดจอดรถเมล์ที่ป้ายเซ็นทรัลพลาซา อุดรธานี, ยูดีทาวน์ และสถานีรถไฟอุดรธานี ซึ่งยอมรับว่าจุดจอดอาจจะทับซ้อนกันบ้างบางส่วน แต่แนวเส้นทางวิ่งไม่เหมือนกัน
และอนาคตรถเมล์ไฟฟ้าสายสีแดงที่จะนำร่องนี้ หากเปิดให้บริการแล้วได้รับความนิยมจากผู้โดยสารจำนวนมาก มีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาเป็นรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) ที่จะเป็นระบบรถไฟฟ้าที่วิ่งให้บริการบนดิน หรือลอยฟ้า ทำให้ไม่มีผลกระทบกับอุดรซิตี้บัสแน่นอน แต่ในทางกลับกันอุดรซิตี้บัสจะเป็นระบบการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ (ฟีดเดอร์) ที่จะขนส่งผู้โดยสารให้ใช้บริการแทรมด้วยซ้ำ หลังจากรับฟังความคิดเห็นแล้วจะสรุปประกอบผลการศึกษาให้สมบูรณ์ คาดแล้วเสร็จเดือน ก.ค. 62 ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณา ส.ค. 62 จากนั้นเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) คาดว่าจะเป็นปลายปี 62