ข่าว12ส.ค.ขึ้นรถไฟฟ้าหัวลำโพง-บางแคฟรี - kachon.com

12ส.ค.ขึ้นรถไฟฟ้าหัวลำโพง-บางแคฟรี
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 5พ.ค.นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการลงพื้นที่ตรวจติดตามความพร้อมการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และเตาปูน – ท่าพระ ณ สถานีสนามไชย โดยมี นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คณะผู้บริหาร รฟม. และผู้บริหารบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีอีเอ็ม) ร่วมด้วยว่า  โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงเตาปูน – ท่าพระ ใช้ระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Heavy Rail Transit System) ที่มีความจุสูง มีระยะทางรวมประมาณ 27 กม. โดยรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค อยู่ระหว่างเร่งติดตั้งระบบรถไฟฟ้า (M&E Work) ที่คืบหน้าไปกว่าร้อยละ 89.73 ดังนั้นจึงให้ความมั่นใจกับผู้โดยสารว่าจะเปิดให้บริการทดลองเดินรถเสมือนจริงครั้งแรกที่ให้ประชาชนใช้บริการฟรีในวันที่ 12 ส.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันสำคัญพิเศษสำหรับชาวไทย และจะสิ้นสุดการรอคอยกันมานานหลายปี ที่จะเห็นรถไฟฟ้าวิ่งลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา จากนั้นเมื่อได้รับคำยืนยันเรื่องความปลอดภัยแล้วคาดว่าจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนก.ย.62

นายไพรินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน – ท่าพระ การติดตั้งระบบรถไฟฟ้าคืบหน้า ร้อยละ 68.69 จะเปิดทดลองเดินรถเสมือนจริงที่ให้ประชาชนใช้บริการฟรีในวันที่ 1 ม.ค.63 เป็นของขวัญปีใหม่ ก่อนเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ภายในเดือนมี.ค.63 ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นจะเห็นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินวิ่งครบเป็นวงกลม และเมื่อรวมส่วนต่อขยายทั้ง 2 ส่วนจะทำให้มีความยาวรวม 48 กม.และมีทั้งหมด 38 สถานี อย่างไรก็ตามเชื่อว่ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินนี้จะมีความสำคัญมากเพราะวิ่งเป็นวงกลม ซึ่งจะช่วยลดความแออัดช่วงเช้าเย็นบริเวณสถานีสยามสแควร์และสถานีสุขุมวิทจะลดลงเพราะผู้โดยสารจะมีทางเลือกมากขึ้น และเมื่อสายสีน้ำเงินเปิดเดินรถครบจะส่งผลให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงเพิ่มขึ้นด้วย เพราะสามารถเชื่อมต่อไปยังสถานที่อื่นได้สะดวกขึ้น ทั้งนี้คาดว่าปริมาณผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นจากประมาณ3.6 แสนคนต่อวันเป็น 8 แสนคนต่อวันเมื่อเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินครบทั้งระบบ
พากษ์วิจารณ์ว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยแพงมากกว่าประเทศสิงโปร์ และมีข้อเสนอให้ปรับลดลง5-10 บาทจะมีการพิจารณาหรือไม่ นายไพรินทร์ กล่าวว่า เรื่องนี้จะมอบให้กรมการขนส่งทางรางไปศึกษารายละเอียดว่าควรจะเป็นอย่างไร แต่เบื้องต้นเห็นว่าเป็นอัตราที่เหมาะสม ยุติธรรม สะดวกปลอดภัยและรวดเร็ว โดยการใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงต่อด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะจ่ายค่าโดยสารตลอด 2 สายในราคา 70 บาท  หากขึ้นสายเดียวจะอยู่ที่ 42 บาท ขณะที่การขึ้นระจักรยานยนต์(จยย.)รับจ้างก็ตกครั้งละ20บาทแล้วและคิดว่า รฟม.ควรจัดโปรโมชั้นสำหรับตั๋วเดือนในราคาถูกเช่นเดียวกันต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการใช้บริการประจำ แต่หากใช้บริการนานๆครั้งก็ขอความกรุณาจ่ายตามอัตราปกติ เพราะการลงทุนใช้ค่าใช้จ่ายสูงมาก ส่วนอัตราค่าโดยสารของสายสีเขียวและสายสีน้ำเงินซึ่งเชื่อมต่อกันได้แต่หลายคนมองว่าค่าโดยสารแพงจะปรับลดหรือไม่นั้นคงเป็นเรื่องยากเพราะเป็นรถ 2 ระบบที่แยกจากกันชัดเจน แต่ในอนาคตกรมการขนส่งทางรางอาจจะพิจารณาค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้งระบบได้

นายภคพงศ์ กล่าวว่า แนวเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีลักษณะเชื่อมต่อกันเป็นวงแหวนขนาดใหญ่ หรือ Circle Line ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน และเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนครให้มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินยังมีจุดเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ได้แก่ รถไฟ รถไฟฟ้า รถโดยสาร และเรือโดยสาร เพื่อช่วยลดความแออัดของการจราจรบนถนนสายสำคัญๆ ในเขตเมืองได้เป็นอย่างดี ส่วนการจัดหาขบวนรถไฟฟ้านั้น บริษัทผู้ผลิตจะขนส่งรถไฟฟ้า 4 ขบวนใหม่ (3 ตู้ต่อขบวน) มาถึงไทยภายในสัปดาห์นี้ และจะทยอยส่งมอบอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนก.ค.62 จะมีขบวนรถเพิ่มเป็น 10 ขบวน เดือนก.ย.62 จะมีขบวนรถเพิ่มเป็น 16 ขบวน และในเดือนมี.ค.63 จะมีขบวนรถครบทั้งหมด 35 ขบวน

ด้านนายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม กล่าวว่า ในปีนี้เชื่อว่ารายได้จะขยายตัวมากกว่าปีที่ผ่านมา เพราะโครงการรถไฟฟ้าจะเปิดให้บริการเพิ่ม คือ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค โดยเชื่อว่าจะเป็นส่วนสนับสนุนให้เกิดการเดินทางเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ – เตาปูน และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายเฉลิมรัชมงคลเพิ่มขึ้น ดังนั้นคาดว่าปริมาณผู้โดยสารจะมากขึ้นแน่นอน เบื้องต้นประเมินว่าเมื่อเปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย จะทำให้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มไม่ต่ำกว่า 1 แสนคนต่อวัน ส่วนสายสีม่วงก็จะเพิ่มมากกว่า 6 หมื่นคนต่อวัน ส่งผลให้รายได้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าจะเดินทางเฉลี่ยคนละ 3 – 4 สถานี มีอัตราค่าโดยสารประมาณ 24 บาทต่อคน อาจจะเพิ่มขึ้นเป็นเดินทางเฉลี่ยคนละ 6 – 7 สถานี มีอัตราค่าโดยสารเป็น 30 บาทต่อคน

นายสมบัติ กล่าวต่อว่า บีอีเอ็ม มีเป้าหมายที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และทุกโครงการที่เกี่ยวข้องกับระบบรถไฟฟ้าที่ทางบีอีเอ็มมีความถนัดอยู่แล้ว ส่วนความคืบหน้าของธุรกิจพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีรถไฟฟ้าต่างๆ บีอีเอ็มพร้อมจะพัฒนาส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ขณะที่พื้นที่เชิงพาณิชย์สายสีม่วง ยังไม่มีความคืบหน้า และบีอีเอ็มก็ยังไม่ได้เป็นเจ้าของสัมปทานพื้นที่